นโยบายพรรครวมพลัง
เป้าหมายหลักของนโยบายพรรครวมพลังประชาชาติไทย คือ หนึ่ง เร่งปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศขนานใหญ่ในด้านต่างๆ สอง มุ่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชาวบ้านมากกว่าสิ่งอื่นใด ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อชีวิตที่มั่นคง โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา
1) นโยบายจังหวัดของประชาชน
ยกฐานะทุกจังหวัดเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ รวมบรรดาหน่วยราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดหนึ่งๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน จึงทำให้จังหวัดรูปแบบใหม่นี้จะมีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ประหยัดงบประมาณและกำลังคนในภาครัฐ เพราะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐโดยตรง ไม่ผ่านกระทรวงและกรม นายกรัฐมนตรีกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารและการพัฒนาของจังหวัดผ่านการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประจำเดือนละ 1 ครั้ง จังหวัดของประชาชนนี้บริหารจัดการทุกอย่างในพื้นที่ได้เอง ยกเว้นเรื่องความมั่นคง การต่างประเทศ
การยุติธรรม การคลังและการเงินของแผ่นดินและการสาธารณูปโภคระดับชาติ ในระยะแรก ให้มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีสรรหาผ่านความเห็นชอบของสภาจังหวัดและมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ดำรงตำแหน่ง วาระ 4 ปี มีสถานะเป็นข้าราชการการเมืองเช่นเดียวกับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
2) นโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจชาวบ้าน
2.1) นโยบายสำหรับประชาชนทั่วไปและผู้ใช้แรงงาน
– ยกรายได้ครัวเรือนให้ถึงเส้นมาตรฐานความพอเพียง ซึ่งเป็นตัวเลขรายได้ที่ถูกกำหนดจากสภาวะความเป็นจริงในพื้นที่นั้นๆ และทำให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ครัวเรือนที่มีรายได้และปัจจัยยังชีพที่ต่ำกว่าเส้นมาตรฐานนี้ รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือให้มีรายได้ถึงเส้นมาตรฐานความพอเพียง โดยการสร้างอาชีพใหม่ ฝึกงาน เพิ่มทักษะ นำงานมาให้ทำถึงครัวเรือน อาทิ งานตัดเย็บเสื้อผ้า เครื่องแบบนักเรียน นักโทษ การทำขนม โดยรัฐเป็นผู้หาตลาดขายสินค้าให้ ในระหว่างที่มาตรการข้างต้นยังไม่บรรลุผล รัฐต้องให้เบี้ยยังชีพเพื่อให้ชีวิตคนกลุ่มนี้อยู่ในระดับเส้นมาตรฐานความพอเพียง ให้มีกองทุนกู้ยืมเพื่อสร้างหรือจัดหาที่อยู่อาศัย ลูกหลานเรียนจบอาชีวะและเทคนิคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อจะมีอาชีพและรายได้ที่ดีเมื่อจบการศึกษา สร้างอาชีวะและวิชาชีพที่ทันสมัย สอนโดยมืออาชีพ ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน
– มีมาตรการดูแลผู้ที่ถูกปลดออกจากงานจากสภาวะทางเศรษฐกิจหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางเทคโนโลยี ด้วยการให้เงินสงเคราะห์เป็นเวลา 12 เดือน เพื่อที่จะตั้งตัวหรือหางานทำใหม่ได้ มีมาตรการช่วยให้คนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อทำกิจการใหม่ของตนเองได้ด้วย
2.2) นโยบายสำหรับเกษตรกรและชาวประมง
– การเกษตรของประเทศต้องวางแผนอย่างเป็นระบบ ครบวงจร เชื่อมโยง สอดคล้องกัน ทั้งการผลิต การแปรรูปและการตลาด
– ให้พืชผลหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มและมันสำปะหลัง เกษตรกรขายแล้วมีกำไรไม่น้อยกว่า 100% ของต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกตามความเหมาะสมของดิน ฟ้า อากาศ (แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรออกเป็นโซน เพื่อให้ได้ผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและขายได้ราคาดี)
– พัฒนาการเกษตรของประเทศให้เป็นเกษตรอินทรีย์หรือเกษตรปลอดภัย และเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนเงินทุนเพื่อการนี้ ส่งเสริมการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อให้ประชาชนทำการค้าสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ควบคุมและห้ามการนำเข้า การจำหน่ายและการใช้สารเคมีที่เป็นพิษทางการเกษตร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เช่น พาราควอตและไกลโฟเซต
– อนุญาตและส่งเสริมให้เกษตรกรและชุมชนปลูกไม้ยืนต้นที่เคยเป็นไม้หวงห้าม เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง เพื่อการใช้สอยเองหรือจำหน่าย
– สนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนทั่วไปสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำและชีวมวล เพื่อใช้หรือจำหน่ายให้การไฟฟ้า
– ดำเนินการให้เอกสารสิทธิที่ดินหรือเอกสารที่เกี่ยวกับการใช้สอยที่ดินทุกประเภทเป็นโฉนด เปลี่ยน
ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนด (โฉนดหลังแดง) ห้ามซื้อขาย แต่สามารถนำไปใช้ในการค้ำประกันการกู้ยืมหรือใช้ประกันตัวเมื่อมีคดีได้ ส่วน ภ.บ.ท.5 ส.ค.1 และส.ท.ก. ในที่ที่ไม่ใช่เขตต้นน้ำลำธาร ให้เปลี่ยนเป็นโฉนดทั้งหมด และจากนี้ไป ห้ามออกเอกสาร ภ.บ.ท.5 ส.ค.1 และส.ท.ก. อีกต่อไป แม้พื้นที่ที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะอยู่ในเขตป่าสงวน แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าประชาชนอยู่มาก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่าสงวนก็ให้ออกโฉนดให้ประชาชน แต่ถ้าอยู่หลังจากประกาศเขตป่าสงวนแล้วและไม่อยู่ในบริเวณต้นน้ำลำธาร ก็ให้ออกโฉนดได้ตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน แต่ต้องปลูกไม้ยืนต้นไม่ต่ำกว่า 25% ของพื้นที่ ส่วนผู้ที่อยู่อาศัยในเขตต้นน้ำลำธารให้ย้ายออก โดยรัฐจะจ่ายเงินชดเชยให้เพื่อไปหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยใหม่
– เพิ่มจำนวนผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรรุ่นใหม่ทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่า สนับสนุนวิทยาลัยการเกษตรที่ทันสมัย สอนโดยครูอาจารย์ที่เป็นมืออาชีพ รวบรวมและระดมปราชญ์ชาวบ้านให้มาทำหน้าที่ที่ปรึกษาและเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการทำการเกษตร
– ทำทุ่งกุลาร้องไห้ 2.1 ล้านไร่ ใน 5 จังหวัด ให้เป็น “เขตเศรษฐกิจพิเศษทุ่งกุลา” เป็นเขตเศรษฐกิจพอเพียงด้วยศาสตร์พระราชา มุ่งให้เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพื่อยกระดับคุณภาพข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าปลอดสารพิษ ยกระดับข้าวหอมมะลิให้เป็นสินค้าอันดับ 1 ของโลก จนเกิดเป็นคำพูดว่า “จะซื้อข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ต้องจองล่วงหน้านาน” และยกระดับทั้งทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นครัวปลอดภัยของโลก ส่งเสริมการค้าและวิชาการเกษตรโดยการจัดตั้งตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ พัฒนาวิทยาลัยอาชีวะและวิทยาลัยการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและเรียนฟรี เพื่อพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงโบราณคดีและเชิงวัฒนธรรมไปด้วย
– จัดตั้ง “เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” (เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสินค้า
ฮาลาล) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลให้ครบวงจร เปิดพื้นที่ท่องเที่ยว (Halal Tourism) เชื่อมต่อกับภูมิภาคต่างๆ และต่างประเทศ จัดงาน “Halal Exhibition” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในกิจการที่เกี่ยวกับฮาลาล เพื่อยกระดับผู้ประกอบการในพื้นที่ไปสู่ระดับฮาลาลโลก
– เร่งฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรประมงชายฝั่งให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ สามารถเป็นแหล่งประกอบอาชีพสำหรับชาวประมงพื้นบ้านและประมงชายฝั่ง เช่น การขยายพื้นที่สร้างปะการังเทียม
– สนับสนุนให้ชาวประมงรายย่อยที่ใช้เรือขนาดเล็กมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพในห้วงเวลาที่ห้ามทำการประมง
– จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการประมง เพื่อส่งเสริมการผลิต การตลาดและการท่องเที่ยวด้านการประมงและอาหารทะเล รวมทั้งขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมการประมงเพื่อแปรรูปสัตว์น้ำ กำหนดเขตพื้นที่พิเศษเพื่อแรงงานประมงให้สอดคล้องกับต้นทุนและการพัฒนาการประมงในพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น เปิดลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวเป็นกรณีพิเศษ
– ส่งเสริมให้เปลี่ยนเครื่องมือประมงที่ทันสมัยสำหรับเรือประมงในประเทศหรือที่ปฏิบัติการในน่านน้ำสากล เป็นไปตามกฎหมายสากล โดยรัฐช่วยลดภาระต้นทุนดังกล่าวอย่างจริงจัง
3) นโยบายด้านการศึกษา
– เน้นฝึกนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้คู่คุณธรรมและประกอบอาชีพได้ดี มีรายได้ที่มั่นคงในเวลาอันรวดเร็ว
– มุ่งสร้างอาชีวะศึกษาและวิชาชีพให้เป็นการศึกษากระแสหลักให้จงได้ จัดการศึกษาฟรีจนถึงระดับปวส. สร้างมืออาชีพที่มีคุณธรรมและมีรายได้สูงกว่า โดยรัฐร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคสังคมเพื่อปรับแนวการสอนและการบริหารให้อาชีวะศึกษาและวิทยาลัยเกษตรทันโลก ทันสมัย ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน
– จัดให้มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยผู้กู้ยืมค้ำประกันตัวเองได้ เมื่อมีงานทำแล้ว ให้กรมสรรพากรดำเนินการให้ผู้กู้ชำระหนี้ผ่านระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
4) นโยบายเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ
– ตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม เราจะทำให้ตำรวจไทยเป็นตำรวจมืออาชีพและเป็นตำรวจของประชาชนอย่างแท้จริง
– กระจายอำนาจการบริหารงาน การจัดสรรงบประมาณและกำลังคนของตำรวจลงสู่จังหวัด ให้แต่ละจังหวัดมีสำนักงานตำรวจที่ขึ้นกับจังหวัดและประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะให้มีตำรวจที่มีหน้าที่จัดการแก้ปัญหายาเสพติดระดับจังหวัดขึ้นเป็นการเฉพาะ ซึ่งมีขีดความสามารถในการป้องกันและปราบปราม
ยาเสพติด กำกับ ควบคุมโดยประชาชนในจังหวัด
– พัฒนาขีดความสามารถในการสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจระดับจังหวัดให้ได้มาตรฐานเดียวกันกับส่วนกลาง
5) นโยบายด้านผู้สูงอายุ
– เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,500 บาทต่อคน ต่อเดือน
– ขยายเวลาอายุเกษียณในภาครัฐเป็น 70 ปี
– ปรับเพิ่มบำนาญสำหรับข้าราชการเกษียณไปพร้อมกับการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ทุกครั้ง
– สนับสนุนภาคเอกชนให้รับผู้สูงอายุเข้าทำงานตามสภาพร่างกายและสุขภาพ
– จัดให้มีผู้ทำหน้าที่บริบาลผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงทุกชุมชน คัดเลือกจากอสม.ให้ทำงาน โดยมีค่าตอบแทน 10,000 บาทต่อเดือน
– จัดให้มีสถานดูแลผู้สูงอายุ (เนอร์สซิ่งโฮม) โดยรัฐให้เงินอุดหนุนแก่วัด โบสถ์ มัสยิดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ
6) นโยบายด้านผู้พิการ
– เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้พิการเป็น 1,500 บาทต่อคน ต่อเดือน
– บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการอย่างเคร่งครัด ให้มีผลสำเร็จภายใน 5 ปี ใช้มาตรการทางภาษีจูงใจให้เอกชนพัฒนาสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการให้มากขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนด
– ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการบริหารกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเพื่อให้ผู้พิการทุกกลุ่ม ทุกประเภท เข้าถึงและได้รับประโยชน์จากกองทุนอย่างเต็มที่
– ส่งเสริมการสร้างงานและการประกอบธุรกิจส่วนตัวของผู้พิการที่สามารถทำงานได้
– โอนอำนาจให้จังหวัดเป็นองค์กรปฏิบัติการ มีหน้าที่ดูแลผู้พิการตามกฎหมาย ส่วนหน่วยงานในระดับชาติเป็นผู้กำหนดมาตรฐานและการกำกับดูแล
7) นโยบายด้านสาธารณสุข
– เน้นการสร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกและป้องกันการเกิดโรคมากกว่าการรักษา มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะและยกระดับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในชนบทและเมืองเล็กเป็นพิเศษ
– พัฒนาขีดความมสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลประจำอำเภอให้เทียบเท่าโรงพยาบาลประจำจังหวัด เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์
– ยกระดับโรงพยาบาลตำบลให้ทำหน้าที่ส่งเสริมและป้องกันโรคเชิงรุกได้ทุกโรค จัดให้มีแพทย์และพยาบาลประจำโรงพยาบาลตำบลอย่างพอเพียง
8) นโยบายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ 40% ของพื้นที่ประเทศ โดยให้ชุมชน ประชาชนจิตอาสาและเอกชนเป็นผู้ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ ส่งเสริมการปลูกไม้ยืนต้นในเชิงเศรษฐกิจและเชิงนิเวศน์ในพื้นที่ของเอกชนและประชาชน เพื่อทดแทนป่าไม้ที่ถูกบุกรุกและเสื่อมสภาพ ส่งเสริมการปลูกป่าในไร่ในสวน ยกเลิกไม้หวงห้ามเพื่อให้ประชาชนสามารถปลูกและนำไปใช้ในทางเศรษฐกิจ
– ให้หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น พลังงานลม ชีวมวล ขยะ เพื่อใช้เองและเพื่อจำหน่าย
– อนุญาตให้ประชาชน ครัวเรือน เกษตรกร ชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าได้ ส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมหุ้นได้อย่างกว้างขวาง
– ด้านการลดมลพิษและสารปนเปื้อน เลิกการใช้สารเคมีที่เป็นพิษในการเกษตรและส่งเสริมการเกษตรแบบอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเพื่อสร้างไทยให้เป็นครัวโลก ที่อร่อย ปลอดภัย กินแล้วไม่เกิดโรค
– ใช้มาตรการทางกฎหมายและภาษีส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการใช้ถุงพลาสติก หลอดพลาสติกและโฟม
– ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนพลังงานน้ำมันสำหรับยานพาหนะทุกชนิดทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะ เพื่อลดมลพิษและฝุ่นพิษโดยเร็ว
9) นโยบายด้านการท่องเที่ยว
เปลี่ยนการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้ใหญ่ของประเทศในขณะนี้ให้กลายเป็นการท่องเที่ยวเพื่อชุมชน ครัวเรือนและประชาชนมากขึ้น ส่งเสริมการลงทุน (BOI) แก่กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจด้านการท่องเที่ยว เช่น การทำโฮมสเตย์ การทำห้องพักในบ้าน (Airbnb) ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก การให้บริการรถ เรือ รถสามล้อหรือยานพาหนะอื่นๆ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว
10) นโยบายเมือง นครและกรุงเทพมหานคร
– สนับสนุนให้เกิดตลาดชุมชนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงตลาดนัดลอยฟ้าบนพื้นที่สะพานลอยคนข้ามขนาดใหญ่ โดยให้ชุมชนดูแลจัดการกันเอง เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชน สนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถขายผลิตภัณฑ์ที่ตนเองผลิตได้ ส่วนผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยทำเลที่ดีและสินค้าในราคาถูก ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
– นำเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่สวยงามและมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรีมาเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่ผ่านการทำธุรกิจการท่องเที่ยว สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
– สร้างถนนอาหาร (Street Food) ทำให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงอาหารต่างๆ ที่สดใหม่ อร่อย สะอาดและราคาไม่แพงได้โดยง่าย ตลอด 24 ชั่วโมง
– ขยายเวลาและจำนวนแรงงานในการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อนกำหนด
– สร้างระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยในเมืองและนครจนถึงขึ้นทำโมโนเรล รถรางไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินอย่างทั่วถึง
– สร้างรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเมืองและนครที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคต่างๆ เข้าด้วยกัน
– ยกระดับทางรถไฟในเมืองที่รถไฟเคยผ่าเมืองออกเป็นสองส่วนคือส่วนที่เจริญและไม่เจริญ เช่น หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานีและพิษณุโลก ให้ยกรางรถไฟให้ลอยสูงขึ้นเพื่อให้รถและคนผ่านไปมาหากันสะดวก ทำให้เมืองสองซีกนั้นได้เชื่อมต่อกัน เพื่อใช้พื้นที่พัฒนาเมืองและขยายโอกาสในการสร้างธุรกิจการท่องเที่ยว นำย่านสินค้าของการรถไฟออกจากเมืองและใช้พื้นที่เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมือง
– สนับสนุนการลงทุนในการสร้างพื้นที่จอดรถส่วนบุคคลที่สะดวกและปลอดภัย เพื่อสนับสนุนให้คนเมืองได้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น ลดปัญหาการจราจรติดขัด
– ฟื้นฟูการคมนาคมทางน้ำทั้งระบบ ทั้งท่าเรือและเรือขนส่งทุกชนิด ทุกขนาด ให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
– เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง นครและมหานคร จากพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทั้งของหน่วยงานราชการและเอกชน
– ปฏิรูประบบการจัดเก็บและจัดการขยะ ต้องมีการเก็บขยะตามที่อยู่อาศัยทุกวัน ในห้วงเวลาที่ไม่เป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิตของผู้คน
– สร้างกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองชั้นนำของโลกเรื่องอาหารที่ทำจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการและเป็นอาหารปลอดภัย ผักและผลไม้ที่ปลอดสารพิษ
– สร้างครูผู้สอนให้มีคุณภาพสำหรับนักเรียนทุกคน
– ให้ซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับเด็กและเยาวชน อายุ 12-25 ปี เพื่อใช้ในการศึกษาทุกรูปแบบ
– ให้เงินตอบแทนประธานชุมชนและกรรมการชุมชนในการทำงาน
– ปรับเปลี่ยนโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยให้เป็นเนอร์สซิ่งโฮมสำหรับผู้สูงอายุ
——————————-